ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป ฝากรูป

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

สังคมแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยี การประชุมทางไกล



ความเป็นมาของการประชุมทางไกล
    แนวคิดเกี่ยวกับการประชุมทางไกลเริ่มมีมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1920 เมื่อห้องทดลองเบลล์ (Bell Laboratories) สาธิตการใช้โทรทัศน์ในรูปแบบของอุปกรณ์การสื่อสารสองทางนอกเหนือไปจากการใช้โทรศัพท์ที่ใช้กันอยู่ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้มากเท่าใดนัก ในปี ค.ศ.1964 ห้องทดลองเบลล์ได้เปิดตัวโทรศัพท์ภาพ (picture telephone) ที่มีคุณสมบัติดีพอที่จะมาแทนที่โทรศัพท์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ แต่ความเห็นของผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่ต้องการใช้เนื่องจากไม่ชอบการที่จะต้องเห็นหน้าของคนที่ไม่เคยรู้จักด้วยมาพูดคุยกัน ความพยายามที่จะพัฒนาโทรศัพท์ภาพจึงต้องล้มเลิกไป ดังนั้น ผู้พัฒนาระบบดังกล่าวจึงหันมายึดเอาการใช้งานเพื่อธุรกิจเป็นเป้าหมายหลัก โดยเน้นที่ระบบการประชุมทางวีดิทัศน์ (videoconference) โดยตั้งเป้าการใช้งานไว้เพื่อการประชุมของฝ่ายบริหาร การฝึกอบรมในองค์การ การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น ผู้ใช้งานระบบในสมัยแรกๆ ต้องเสียเงินเช่าอุปกรณ์ เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมหรืออุปกรณ์รับส่งสัญญาณไมโครเวฟ และจ้างบริษัทมาดำเนินการจัดประชุม ทำให้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในช่วงแรกๆ จึงมีผู้ใช้งานน้อยมาก
ปัจจุบันการประชุมทางไกลมีการใช้แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาทางด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาให้อุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ราคาของอุปกรณ์ต่างๆ ลดลง อุปกรณ์สามารถใช้ร่วมกันได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้การประชุมทางไกลทำได้อย่างสะดวก ง่ายดาย รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายถูกลง

ความหมายของการประชุมทางไกล
    การประชุมทางไกล คือ การที่ผู้ประชุมหรือกลุ่มผู้ประชุมมากกว่าสองกลุ่มขึ้นไปที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ กัน ดำเนินการประชุมร่วมกันโดยผ่านระบบการสื่อสารโทรคมนาคมในรูปแบบต่างๆ โดยจะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานของการประชุม ดังนี้
- สื่อสารสองทางด้วยภาพ เสียง หรือทั้งภาพและเสียง
- ใช้ช่องทางการสื่อสารโทรคมนาคมในการประชุม
- เชื่อมโยงสถานที่ประชุมตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปเข้าด้วยกันโดยระบบโทรคมนาคม
- สื่อสารแบบสองทางที่ทำให้ผู้ร่วมประชุมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้

ความสำคัญของการประชุมทางไกล
    ในอดีตการประชุมภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศต้องใช้เวลาและการเตรียมการมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง เพื่อให้การประชุมสามารถดำเนินการได้โดยมีความสะดวกรวดเร็วขึ้นและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยลงจึงได้มีการพัฒนาการจัดการประชุมทางไกลขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าประชุมสามารถประชุมได้จากสถานที่ที่ตนเองอยู่โดยไม่ต้องเดินทางมาประชุมร่วมกัน
เรื่องที่ 10.1.2 อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการประชุมทางไกล
1. อุปกรณ์นำเข้าข้อมูล
    อุปกรณ์นำเข้าข้อมูลเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ในการประชุม ไม่ว่าจะเป็นเสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือข้อมูลที่เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยผ่านทางระบบโทรคมนาคม อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่
1.1 โทรศัพท์
1.2 กล้องโทรทัศน์
1.3 ไมโครโฟน
1.4 คอมพิวเตอร์
1.5 โทรสาร
1.6 เครื่องกราดภาพ
2. อุปกรณ์เชื่อมต่อกับระบบโทรคมนาคม
    ในการประชุมทางไกล ระบบที่เชื่อมโยงการประชุมจากสถานที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน คือ ระบบเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น เครือข่ายโทรศัพท์ เครือข่ายบริการสื่อสารร่วมระบบดิจิทัลหรือไอเอสดีเอ็น (Integrated Services Digital Network, ISDN) เครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในองค์การหรือแลน (Local Area Network, LAN) เครือข่ายอินเทอร์เนต หรือเครือข่ายไมโครเวฟ เป็นต้น ในการส่งข้อมูลที่เป็นสัญญาณภาพ สัญญาณเสียงหรือข้อมูลในรูปแบบอื่นของการประชุมผ่านเข้าไปในระบบโทรคมนาคมนั้นจะต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อแปลงสัญญาณดังกล่าวให้เป็นสัญญาณที่เหมาะสมกับระบบโทรคมนาคมที่ใช้ และเมื่อผ่านระบบโทรคมนาคมไปจนถึงผู้รับแล้วก็จะมีอุปกรณ์ที่จะใช้เพื่อแปลงสัญญาณเหล่านั้นให้กลับมาเป็นสัญญาณภาพและเสียงที่สามารถรับชมและรับฟังได้อีกครั้งหนึ่ง
3. อุปกรณ์แสดงผลข้อมูล
    อุปกรณ์แสดงผลข้อมูล เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกส่งผ่านมาจากระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้เป็นข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถรับรู้ได้ อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่
3.1 ลำโพง
3.2 จอภาพ
3.3 เครื่องฉายภาพวีดิทัศน์ (video projector)
3.4 อุปกรณ์แสดงผลที่เป็นเอกสาร (hard copy)
      สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการประชุมทางไกล คือ ห้องประชุม ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งวัสดุซับเสียง เพื่อป้องกันเสียงก้องหรือเสียงสะท้อน

ประโยชน์และข้อจำกัดของการประชุมทางไกล
1. ประโยชน์ของการประชุมทางไกล
การประชุมทางไกลมีประโยชน์ ดังนี้
1.1 การประหยัดเวลา เพราะไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางยิ่งถ้าเป็นการประชุมระหว่างประเทศก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
1.2 การประหยัดงบประมาณ เนื่องจากจะต้องมีการเตรียมการและมีค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมมากมาย หากสามารถจัดการประชุมทางไกลได้ก็จะเป็นการประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก
1.3 ความสะดวกในการดำเนินการ การจัดประชุมทางไกลสามารถจัดได้ในเกือบทุกสถานที่ที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมไปถึง สามารถจัดได้ง่ายและบ่อยเท่าที่ต้องการ
1.4 การใช้งานได้หลากหลาย การประชุมทางไกลใช้ในการสัมมนา ประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล ฝึกอบรม โดยไม่จำกัดว่าการประชุมทางไกลจะต้องใช้เฉพาะกับการประชุมเพื่องานธุรกิจเพียงอย่างเดียว
1.5 ความปลอดภัยของข้อมูล ข้อมูลที่ส่งผ่านระบบโทรคมนาคมในการประชุมทางไกล สามารถจะเข้ารหัสเพื่อป้องกันการลักลอบขโมยข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้
1.6 ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การประชุมทางไกลจะช่วยให้หน่วยงานย่อยๆ ที่เป็นสาขามีความรู้สึกว่ายังเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ ไม่ได้แยกออกไปต่างหากอย่างโดดเดี่ยว
2. ข้อจำกัดของการประชุมทางไกล
2.1 โครงสร้างพื้นฐานของระบบสื่อสารโทรคมนาคม หากสถานที่ที่จะจัดให้มีการประชุมทางไกลไม่มีโครงสร้างพื้นฐานของระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่สามารถจะรองรับการจัดการประชุมทางไกลได้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะจัดให้มีการประชุมทางไกลได้
2.2 ขนาดของข้อมูล หากข้อมูลในการประชุมมีขนาดใหญ่กว่าที่ระบบการสื่อสารจะรองรับได้ ก็จะไม่สามารถส่งไปได้ หรือถ้าส่งได้ก็จะต้องใช้เวลามากกว่าปกติ
2.3 โครงสร้างของระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่สามารถรองรับการสื่อสารของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ๆ
2.4 ระยะทาง ระยะทางในการประชุมห่างกันมากหรือจะต้องมีการใช้ดาวเทียมเพื่อเชื่อมโยงสัญญาณ ก็จะทำให้เกิดการหน่วงเวลาของสัญญาณ (delay) ได้
2.5 การประชุมแบบหลายแห่งพร้อมๆ กัน ในมีการประชุมทางไกล มีรูปแบบในการจัดการประชุมอยู่ 2 รูปแบบ คือ
2.5.1 การประชุมระหว่างจุดต่อจุด (point-to-point) เป็นการประชุมระหว่างสถานที่สองแห่ง คือ เป็นการจัดระหว่างจุดต่อจุด
2.5.2 การประชุมระหว่างจุดต่อหลายจุด (point-to-multipoint) มีลักษณะคล้ายกับการประชุมระหว่างจุดต่อจุด ต่างกันตรงที่ว่ามีสถานที่ในการจัดประชุมมากกว่าสองแห่งขึ้นไป โดยผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละจุดสามารถจะสนทนาโต้ตอบกันได้พร้อมๆ กันในทุกจุดตลอดเวลา
จะเห็นได้ว่าการประชุมทางไกลที่จัดขึ้นเพียงสองจุดจะไม่มีปัญหาในการประชุม แต่หากเป็นการประชุมพร้อมกันหลายๆ จุด ที่มีทั้งภาพและเสียง โดยผู้เข้าร่วมประชุมสามารถติดต่อสื่อสารกันได้พร้อมๆ กันทุกจุดทำได้ยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง
2.6 ความแตกต่างของเวลา เวลาของประเทศต่างๆ ในโลกแตกต่างกันไป เช่น ในขณะที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาเที่ยงวันแต่ที่นิวยอร์คจะเป็นเวลาเที่ยงคืน ความแตกต่างของเวลาจึงทำให้เกิดปัญหาในการจัดประชุมได้
2.7 กฎระเบียบและความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยนั้นมีทั้งระบบที่เป็นของรัฐบาลและที่เป็นของเอกชนก็ยังต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐบาล ดังนั้นในการขอใช้บริการจึงมีกฏระเบียบอยู่มาก ทำให้ไม่สะดวกในการขอใช้บริการ

เทคโนโลยีที่ใช้ในการประชุมทางไกล
เทคโนโลยีทางเสียง
1. เทคโนโลยีทางเสียงแบ่งตามประเภทของการสื่อสาร
1.1 การสื่อสารด้วยเสียงทางเดียว (simplex audio) เป็นการสื่อสารทางเดียวที่ผู้รับไม่สามารถจะสนทนาโต้ตอบได้ คือ ผู้ส่งก็ทำหน้าที่เฉพาะในการส่ง ผู้รับก็ทำหน้าที่รับเพียงเดียว การสื่อสารประเภทนี้จึงไม่สามารถนำมาใช้ในการประชุมทางไกลได้
1.2 การสื่อสารด้วยเสียงสองทางแบบครึ่งอัตรา (half duplex audio) เป็นการสื่อสารที่คู่สนทนาไม่สามารถสนทนาพร้อมๆ กันได้ กล่าวคือ ในขณะที่คนหนึ่งพูด อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องรับฟังเพียงอย่างเดียวจนกว่าจะพูดจบ จึงจะสามารถพูดโต้ตอบกลับไปได้
1.3 การสื่อสารด้วยเสียงสองทางแบบเต็มอัตรา (full duplex audio) ผู้สนทนาทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะสนทนาโต้ตอบกันได้ตลอดเวลาเหมือนกับการสนทนาตามปกติ โดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดจบเสียก่อนจึงจะพูดได้
2. เทคโนโลยีทางเสียงแบ่งตามรูปแบบของเสียง
2.1 เสียงแบบแอนะล็อก คือ เสียงที่อยู่ในรูปของคลื่นเสียงที่ผู้พูดเปล่งออกมา ซึ่งเมื่อใช้ไมโครโฟนรับเสียงนั้นคลื่นเสียงก็จะถูกเปลี่ยนให้ไปอยู่ในรูปของสัญญาณไฟฟ้า สัญญาณไฟฟ้านี้จะถูกส่งผ่านไปตามช่องทางการสื่อสาร เช่น สายโทรศัพท์ และเมื่อถูกส่งผ่านเข้าไปในลำโพงสัญญาณไฟฟ้านั้นก็จะถูกแปลงกลับมาเป็นคลื่นเสียงที่สามารถรับฟังได้
2.2 เสียงแบบดิจิทัล เป็นการแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นข้อมูลดิจิทัล โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าตัวแปลงแอนะล็อกเป็นดิจิทัล หรือเอดีซี (Analog-to-Digital Converter, ADC) ซึ่งจะทำหน้าที่แปลงข้อมูลที่เป็นแอนะล็อกให้เป็นข้อมูลที่เป็นดิจิทัล และเมื่อต้องการที่จะใช้เสียงนั้นก็จะต้องทำการแปลงกลับมาอีกครั้งหนึ่งให้เป็นแอนะล็อกแล้วจึงสามารถได้ยินเสียงนั้นทางลำโพงได้ ข้อดีของเสียงแบบดิจิทัลคือสามารถบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กลงได้ และมีคุณภาพดีกว่าแบบแอนะล็อกเนื่องจากปราศจากเสียงรบกวน (noise)
เรื่องที่ 10.2.2 เทคโนโลยีทางภาพ
1. ฟรีซเฟรมวิดีโอ
ฟรีซเฟรมวิดีโอ (freeze frame video) คือ ภาพวีดิทัศน์ที่ส่งออกไปในลักษณะที่เป็นภาพนิ่งทีละภาพ โดยอาจจะมีอัตราเร็วในการส่งประมาณ 6 หรือ 10 เฟรมต่อนาที ทำให้ข้อมูลของภาพที่ส่งออกไปมีขนาดเล็กจึงสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารทางโทรศัพท์ในการส่งภาพได้ และเนื่องจากระบบโทรศัพท์เป็นระบบแถบความถี่แคบ ภาพที่ส่งไปจึงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะไปถึงผู้รับ
2. ภาพเคลื่อนไหวอย่างธรรมชาติ
ภาพเคลื่อนไหวอย่างธรรมชาติ (full motion video) เป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเหมือนกับการเคลื่อนไหวจริงๆ ในธรรมชาติ ซึ่งจะต้องส่งภาพออกถึง 25 เฟรมต่อวินาที ทำให้ขนาดของข้อมูลใหญ่มาก จึงต้องส่งผ่านระบบโทรคมนาคมที่มีแถบความถี่กว้าง การส่งภาพเคลื่อนไหวอย่างธรรมชาตินั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก การประชุมทางไกลที่เป็นการประชุมทางวีดิทัศน์ จึงไม่ส่งภาพในลักษณะที่เป็นภาพเคลื่อนไหวแบบเป็นธรรมชาติได้ เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่จะเป็นภาพที่มีรายละเอียดพอสมควรและส่งในแบบที่มีอัตราของเฟรม (frame rate) ต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ภาพที่ได้จะมีรายละเอียดลดลงและจะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นธรรมชาติ คือ ภาพจะมีอาการกระตุกอยู่บ้าง
3. วีดิทัศน์ที่บีบอัด
วีดิทัศน์ที่บีบอัด (compression video) นั้น สร้างขึ้นเพื่อให้สามารถส่งภาพที่มีการเคลื่อนไหวแบบธรรมชาติหรือใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก คือจะต้องลดขนาดของข้อมูลที่จะส่งไปให้มีขนาดเล็กลงโดยภาพที่ได้ยังจะต้องมีคุณภาพไม่ลดลงไปจากเดิมมากนัก ซึ่งทำได้โดยอาศัยเทคโนโลยีการบีบอัดสัญญาณ (compression technology) เทคโนโลยีนี้จะใช้ได้กับข้อมูลที่เป็นดิจิทัลเท่านั้น หากภาพเคลื่อนไหวที่จะใช้เป็นภาพแบบแอนะล็อกก็จะต้องแปลงให้อยู่ในรูปของข้อมูลแบบดิจิทัลเสียก่อนจึงจะทำการบีบอัดสัญญาณได้

เทคโนโลยีทางการสื่อสารโทรคมนาคม
1. ระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ใช้สาย
ระบบสื่อสารโทรคมนาคมประเภทที่ใช้สาย เป็นระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่อาศัยสายตัวนำสัญญาณเป็นสื่อในการเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารเข้าด้วยกัน สายตัวนำสัญญาณ ได้แก่
1.1 ยูทีพี (Unshielded-Twisted Pair, UTP) เป็นสายที่ทำมาจากลวดทองแดงสองเส้นที่นำมาพันเป็นเกลียวเข้าด้วยกัน เพื่อลดการรบกวนของสัญญาณจากภายนอก อัตราความเร็วในการส่งสัญญาณของสายยูทีพีจะส่งได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมที่ปลายสายทั้งสองข้างและโปรแกรมที่ใช้ควบคุมและจัดการการสื่อสารนั้นๆ สายยูทีพีเป็นสายนำสัญญาณขนาดเล็กที่มีราคาไม่แพงและมีความเร็วในการส่งสัญญาณที่ดีพอสมควร แต่หากระยะทางในการเดินสายยาวมากจะทำให้เกิดการสูญเสียของสัญญาณได้
1.2 เอสทีพี (Shielded-Twisted Pair, STP) สายเอสทีพีเป็นสายนำสัญญาณที่มีลักษณะคล้ายสายยูทีพี ต่างกันตรงที่สายเอสทีพีจะประกอบด้วยคู่สายนำสัญญาณสองคู่ โดยที่คู่สายแต่ละคู่นอกจากจะนำมาพันกันเป็นเกลียวแล้วยังหุ้มด้วยแผ่นโลหะ (foil) บางๆ เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน แล้วใช้เส้นทองแดงที่ถักเป็นตาข่ายหุ้มทับคู่สายทั้งสองอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงมีเปลือกของสายสัญญาณที่เป็นฉนวนหุ้มอยู่ในชั้นนอกสุด
1.3 สายโคแอกเชียล (coaxial wire) นิยมเรียกกันสั้นๆว่า สายโคแอก (co-ax) เป็นสายที่มีสายนำสัญญาณเป็นสายเดี่ยวห่อหุ้มด้วยฉนวนเป็นแกน และหุ้มด้วยเส้นใยทองแดงที่ถักสานกันเป็นตาข่าย หรือห่อหุ้มไว้ด้วยโลหะบางๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนจากภายนอก
1.4 เส้นใยนำแสง (fiber optics) เส้นใยนำแสงเป็นสายนำสัญญาณที่ใช้เทคโนโลยีในการนำสัญญาณที่แตกต่างไปจากสายประเภทอื่น กล่าวคือ สายนำสัญญาณทั่วๆ ไปจะเป็นสายที่ใช้นำสัญญาณไฟฟ้า แต่เส้นใยนำแสงจะเป็นสายสัญญาณที่ใช้นำคลื่นแสง (light pulse) ลักษณะของเส้นใยนำแสงจะมีแกนที่เป็นเส้นใยแก้วเส้นเล็กๆ เป็นตัวนำสัญญาณ เส้นใยนี้จะหุ้มด้วยพลาสติกแล้วใช้เส้นใยเคฟลา (kevlar) หุ้มทับอีกชั้นเพื่อความแข็งแรง เส้นใยนำแสงมีคุณภาพสูง แต่มีราคาสูงในการติดตั้ง
2. ระบบสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย
2.1 การใช้วิทยุโทรคมนาคม การสื่อสารในระบบนี้อาศัยคลื่นวิทยุเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ข้อดีของการสื่อสารระบบนี้คือ ใช้งานง่าย ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่สลับซับซ้อน แต่ข้อจำกัดคือ เป็นการสื่อสารด้วยเสียงแบบครึ่งอัตรา
2.2 การใช้ไมโครเวฟ การสื่อสารระบบไมโครเวฟเป็นการสื่อสารประเภทที่ผู้ส่งและผู้รับจะต้องอยู่ในแนวติดต่อกันที่เป็นเส้นตรงโดยไม่มีอะไรมาบัง (direct line-of-sight) ชุดรับ-ส่งสัญญาณไมโครเวฟจึงมักติดตั้งไว้บนอาคารสูง หรือติดตั้งไว้บนเสาสัญญาณสูงๆ การส่งสัญญาณในระยะทางไกลมากๆ สัญญาณก็จะถูกบดบังโดยความโค้งของผิวโลก ดังนั้นจึงต้องมีการติดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
2.3 การใช้ดาวเทียม ดาวเทียมมีคุณสมบัติหลายประการ เช่น ช่องสัญญาณดาวเทียมมีขนาดใหญ่ มีความสามารถในการครอบคลุมพื้นที่ในการสื่อสารกว้างขวาง ซึ่งพื้นที่ในการครอบคลุมของสัญญาณดาวเทียมเรียกว่า เขตสัญญาณบริการหรือฟุตพรินท์ (footprint) ดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมจะเป็นดาวเทียมที่ใช้วงโคจรที่มีความสูงจากพื้นโลกประมาณ 22,300 ไมล์ในแนวเส้นศูนย์สูตร ดาวเทียมที่ความสูงระดับนี้สามารถโคจรไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนที่ของโลก ข้อดีของดาวเทียมประเภทนี้ คือสามารถตั้งจานรับสัญญาณจากดาวเทียมไว้ได้อย่างถาวร โดยไม่จำเป็นต้องหันทิศทางของจานรับสัญญาณตามการเคลื่อนที่ของดาวเทียม
     ดาวเทียมสื่อสารทำหน้าที่รับสัญญาณที่ส่งขึ้นมาจากสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน นำสัญญาณที่รับได้มาขยายแล้วจึงส่งกลับลงมายังสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน โดยสัญญาณที่ใช้ในการรับส่งนั้นเป็นได้ทั้งสัญญาณแอนะล็อกและสัญญาณดิจิทัล ระบบการสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมมีข้อดีคือ ใช้ในการสื่อสารระยะไกลๆ ได้เป็นอย่างดี สามารถใช้งานได้ในแทบทุกพื้นที่ในโลก แต่มีข้อจำกัดคือ มีค่าใช้จ่ายสูง และเนื่องจากสัญญาณต้องเดินทางจากพื้นโลกขึ้นไปสู่ดาวเทียมแล้วเดินทางกลับลงมาเป็นระยะทางประมาณกว่า 70,000 กิโลเมตร จึงทำให้เกิดการหน่วงของสัญญาณขึ้น

การประชุมทางไกลด้วยเสียง
1. ความหมายของการประชุมทางไกลด้วยเสียง
    การประชุมทางไกลด้วยเสียง (audio teleconference) เป็นการประชุมทางไกลที่ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถสนทนาพูดคุยกันได้ โดยจะได้ยินแต่เสียงไม่สามารถที่จะเห็นภาพของผู้เข้าร่วมประชุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ บางครั้งจำเป็นที่จะใช้ภาพประกอบการประชุม การประชุมในลักษณะนี้เรียกว่า การประชุมทางไกลด้วยเสียงประกอบภาพ (audiographics teleconference)
2. อุปกรณ์ที่ใช้ในการประชุมทางไกลด้วยเสียง
2.1 โทรศัพท์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แปลงเสียงของผู้พูดให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า
2.2 ไมโครโฟนเพื่อการประชุม ไมโครโฟนประเภทนี้จะมีส่วนรับเสียงติดไว้รอบตัว เพื่อให้รับเสียงที่มาจากทิศทางต่างๆ รอบห้องได้
2.3 จอภาพ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับภาพนิ่ง หรือภาพที่เป็นสโลว์แกนทีวี
2.4 กล้องกราฟิก (graphic camera) เป็นกล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กที่ติดไว้บนแท่น เพื่อใช้ในการถ่ายทอดภาพนิ่ง แผนภูมิ หรือแผนผังต่างๆ ที่ใช้ประกอบในการประชุม
2.5 โทรสาร
2.6 เอ็มซียู ในกรณีที่การประชุมทางไกลด้วยเสียงเป็นการประชุมพร้อมๆ กันมากกว่าสองแห่งขึ้นไป จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์เพื่อเชื่อมโยงสัญญาณ (bridge) จากจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เข้าประชุมในทุกจุดสามารถพูดและรับฟังได้พร้อมๆ กัน อุปกรณ์นี้เรียกว่า เอ็มซียู (Multipoint Control Unit, MCU)
3. การใช้งานระบบการประชุมทางไกลด้วยเสียง
    การประชุมทางไกลด้วยเสียงใช้งานง่าย หากมีการติดตั้งระบบไว้เรียบร้อยแล้วผู้ใช้ก็เพียงแต่หมุนโทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้ที่นัดหมายไว้ในการประชุม เมื่อติดต่อกันได้แล้วก็สามารถเริ่มประชุมได้เหมือนกับการประชุมทั่วๆ ไป ข้อดีของการประชุมทางไกลด้วยเสียงคือ มีค่าใช้จ่ายต่ำ สามารถจัดการประชุมได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถเห็นผู้เข้าร่วมประชุมในอีกที่หนึ่งได้

การประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์
1. ความหมายของการประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์
    การประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์ เป็นการประชุมที่ประกอบด้วยเสียง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว การประชุมประเภทนี้จะเป็นการประชุมที่ให้ความรู้สึกในการประชุมเหมือนกับการที่ผู้ร่วมประชุมเข้ามาประชุมร่วมกันจริงๆ (face-to-face meeting) มากที่สุด
การประชุมประเภทนี้สามารถจัดได้สองรูปแบบ คือ การประชุมในแบบที่เป็นการสื่อสารสองทางด้วยเสียงแต่สื่อสารทางเดียวด้วยภาพ (two-way audio/one-way video) และการประชุมในแบบที่เป็นการสื่อสารสองทางทั้งภาพและเสียง (two-way audio/two-way video)
2. อุปกรณ์ที่ใช้ในการประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์
2.1 ชุดการประชุมทางไกล ประกอบด้วย
2.1.1 กล้องโทรทัศน์ กล้องประเภทนี้เป็นกล้องขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติหลายประการ ดังนี้
1) การควบคุมได้จากระยะไกล
2) การตั้งตำแหน่งและขนาดของภาพได้ล่วงหน้า (present position)
3) การจับภาพของผู้พูดได้โดยอัตโนมัติ (auto tracking)
2.1.2 จอภาพ ขนาดของจอภาพมีตั้งแต่ 29-34 นิ้ว
2.1.3 ไมโครโฟน เป็นไมโครโฟนที่มีความไวสูงในการรับเสียง มีความสามารถปรับระดับความดังของเสียงได้โดยอัตโนมัติ
2.1.4 อุปกรณ์โคแดก (CODEC) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการผสม (multiplexing) ข้อมูลนำเข้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง หรือตัวอักษรเข้าด้วยกันเพื่อส่งเข้าระบบโทรคมนาคม
ในกรณีที่เป็นการประชุมร่วมกันหลายจุดก็จะมีอุปกรณ์ต่อเชื่อมสัญญาณจากจุดต่างๆ เข้าด้วยกันหรือเอ็มซียู (MCU) รวมอยู่ด้วย
2.2 อุปกรณ์เสริม ได้แก่
- แทบเล็ต (tablet) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อเขียนข้อความหรือวาดภาพเพื่อให้ไปปรากฏบนจอภาพโดยตรง
- เครื่องกราดภาพ
- โทรสาร
- กล้องกราฟิก
- เครื่องเล่นและบันทึกเทปวีดิทัศน์ (Video Cassette Recorder, VCR)
3. การใช้งานระบบการประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์
    การใช้งานระบบการประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์ก็มีวิธีการคล้ายๆ กับการประชุมทางไกลด้วยเสียงคือ ใช้วิธีติดต่อกันด้วยระบบโทรศัพท์ ข้อดีของการประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์คือ ช่วยให้ผู้เข้าประชุมมีความรู้สึกเหมือนกับได้เข้าประชุมร่วมในที่เดียวกันจริงๆ แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องการระบบโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสูงตามไปด้วย

การประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์
1. ความหมายของการประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์
    การประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์ หมายถึง ระบบการประชุมทางไกลที่ใช้คอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการประชุม การประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์มีหลายประเภทคือ ตั้งแต่การประชุมด้วยการส่งข้อความ การประชุมทางไกลด้วยเสียง และการประชุมทางไกลด้วยภาพและเสียง
2. อุปกรณ์ที่ใช้ในการประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์
2.1 คอมพิวเตอร์ ควรจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถด้านมัลติมีเดีย (multimedia) ตามมาตรฐานเอ็มซีพี (Multimedia Personal Computer, MPC)
2.2 กล้องโทรทัศน์ กล้องที่ใช้กับคอมพิวเตอร์นี้จะเป็นกล้องขนาดเล็กที่สามารถวางไว้ได้บนคอมพิวเตอร์ หรือเป็นกล้องที่ติดอยู่กับแท่นและมีก้านเป็นข้ออ่อนที่สามารถดัดให้อยู่ในตำแหน่งต่างๆ ได้ตามต้องการ
2.3 โมเด็ม โมเด็มเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแปลงสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ให้เป็นสัญญาณเสียงเพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลผ่านไปทางเครือข่ายโทรศัพท์ได้
2.4 โปรแกรมการประชุมทางไกล ทำหน้าที่ในการจัดการประชุม รับ ส่ง และแสดงผลข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นภาพ เสียงหรือข้อมูลในลักษณะอื่นๆ
3. การใช้งานระบบการประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์
    เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้เป็นคอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบโน้ตบุ๊กที่มีขนาดเล็ก ดังนั้น ลักษณะของการประชุมส่วนใหญ่จะเป็นการประชุมระหว่างบุคคล ข้อดีของการประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์ คือ มีค่าใช้จ่ายต่ำ นอกจากนั้นยังใช้งานง่ายไม่ต้องต่อพ่วงอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม สามารถทำการประชุมทางไกลในลักษณะเคลื่อนที่ได้อีกด้วย ส่วนข้อจำกัดคือ คุณภาพของภาพและเสียงที่ได้จะไม่ดีนัก จอภาพมีขนาดเล็กผู้เข้าประชุมในแต่ละข้างมีได้เพียง 1-2 คนเท่านั้น และความหนาแน่นของการใช้งานเครือข่ายบนอินเทอร์เนตอาจทำให้เกิดการสะดุดหรือเกิดความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลได้

การนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้ในองค์การ
ขั้นตอนในการนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้ในองค์การ มีดังนี้
1. การสำรวจความต้องการ
การสำรวจความต้องการเริ้มจากการหาข้อมูลต่างๆ เช่น
- ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจขององค์การทำอยู่อย่างไร
- จะนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้ในกิจกรรมใดขององค์การได้บ้าง
- งบประมาณที่จัดไว้เพื่อการนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้เป็นเท่าไร
- งบประมาณและเวลาที่จะประหยัดได้จากการนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้
- ผลประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับจากการนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้
2. การออกแบบระบบการประชุมทางไกล
    ในการออกแบบระบบการประชุมทางไกล นอกจากจะต้องออกแบบโดยกำหนดรูปแบบของการประชุมและเลือกวัสดุอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้งานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการออกแบบระบบแสงสว่าง ระบบเสียง ระบบถ่ายเทอากาศ ระบบปรับอากาศ ตำแหน่งของห้องประชุม และการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ในห้องประชุมให้เหมาะสมด้วย
3. การจัดการและการให้บริการระบบการประชุมทางไกล
    เพื่อให้สามารถใช้งานระบบการประชุมทางไกลที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องพิจารณาจัดระบบในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ
- การกำหนดแนวทางในการใช้งาน
- การจองใช้ห้องประชุม
- การจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์
- การดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์
4. การประชาสัมพันธ์
    เพื่อให้บุคคลากรในอง์การได้ใช้ประโยชน์จากระบบการประชุมทางไกลที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลากรในองค์การทราบถึงประสิทธิภาพและประโยชน์ของระบบ
5. การจัดฝึกอบรม
    ในการใช้งานระบบการประชุมทางไกลจะต้องมีการฝึกอบรมทั้งผู้ใช้งานและผู้ที่ให้บริการ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใช้งานและผู้ให้บริการสามารถใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. การประเมินผล
    เมื่อได้นำระบบการประชุมทางไกลมาใช้งานแล้ว จะต้องมีการประเมินผลการใช้งานเพื่อนำผลการประเมินที่ได้ไปแก้ไขข้อบกพร่อง และปรับปรุงการใช้งานและการให้บริการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น


ที่มา : บรรณานุกรม
Senn, James. Information Technology in Business. 2nd ed. New Jersy : Prentice-Hall Internation Inc., 1998.
William, Brian. Sawyer, Stacey and Hutchinson, Sarah. Using Information Technology : A Practice Introduction to Computers and Communications. Irwin Inc., 1995.
Laudon, Kenneth and Laudon, Jane. Management Information Systems : Organization and Technology. 3rd ed. Macmillan College Publishing Co., 1994.

http://www.stou.ac.th/Schools/Sst/main/eLearning/Oa/html/charpter10.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น